เจ้าพระยามหาโยธานราธิบดีศรีพิชัยณรงค์ (เจ่ง คชเสนี) เป็นชาวมอญ เกิดในเมืองมอญราวปี พ.ศ. 2282 อพยพเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นต้นตระกูลคชเสนี (“เจ่ง” เป็นภาษามอญแปลเป็นไทยว่า “ช้าง”) เป็นโอรสของเจ้าเมืองเมียวดีผู้ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระยาทะละ (Byinnya Dala หรือ Binnya Dala) พระเจ้ากรุงหงสาวดีกษัตริย์มอญองค์สุดท้าย ซึ่งปกครองประเทศพม่าปี พ.ศ. 2290 - พ.ศ. 2300 ทรงพระนามเมื่อขึ้นครองราชย์ว่า พระเจ้าพญามอญธิราชานราธิบดี (King Payamindi Raza Naradibati) บางคนเรียก "พระเจ้าพญามองธิราช"
เจ้าพระยามหาโยธา หรือนามเดิมว่า“เจ่ง” เคยรับราชการอยู่กับพม่า บางคนเรียก “พญาเจ่ง" หรือ "พระยาเจ่ง” เคยคุมกองมอญสมทบกับทัพพม่าเข้ามาตีเมืองหลวงพระบางใน พ.ศ. 2315 พม่าให้พระยาเจ่งรักษาเมืองเชียงแสนราวปี และยังมีภรรยาเป็นเจ้าหญิงเชียงแสน มีบุตรสายสกุลเหนือใช้สกุล “ณ ลำปาง” หลังจากนั้นได้ยกความดีชอบตั้งเป็นเจ้าเมืองเตริน หัวเมืองตอนใต้ของพม่า ตั้งอยู่ระหว่างเมืองเมาะตะมะกับแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์
หลังจากนั้นในสมัยพระเจ้ามังระ เตรียมจะยกทัพมาที่กรุงธนบุรี พม่าได้เกณฑ์ให้ชาวมอญมาทำทางและยังยังเกณฑ์มอญเข้ากองทัพอีกพวกหนึ่ง บางคนก็หลบหนีแต่พม่าก็จับครอบครัวที่หลบหนีเป็นตัวจำนำหรือจับลูกหลานเกณฑ์มาทำทางให้ ทำให้พวกมอญโกรธแค้นและพร้อมใจกันเป็นกบฏ โดยมีพระยาเจ่งเป็นหัวหน้ารวบรวมกำลังเข้าตีเมืองเมาะตะมะและเมืองมอญอื่นๆ แต่ไม่สำเร็จ จึงอพยพหนีมายังประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2318 โดยมีหัวหน้าที่อพยพมา 4 คนคือ พระยาเจ่ง พระยาอู่ ตละเกลี้ยง ตละเกล็บ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้รับไว้ พระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนในเขตเมืองนนทบุรีตั้งแต่ปากเกร็ดไปจนถึงสามโคก นอกจากนั้นยังสันนิษฐานว่าพระยาเจ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาเกียรติคู่กับตละเกล็บที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราม
พระยาเจ่งมีบทบาทส่วนร่วมในสงครามแทบทุกครั้งร่วมกับกองทัพไทย ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระยาเจ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระยามหาโยธาที่จักรีมอญ บังคับบัญชากองทัพมอญ ได้โดยเสด็จในการสงครามติดต่อมาทุกครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2330 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาโยธา จากความดีความชอบเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จไปตีเมืองทวาย เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) มีบทบาทต่อต่อราชการแผ่นดินในด้านทางการศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่าเป็นส่วนใหญ่ พม่าจึงคิดจะแย่งตัวเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ไปจากไทย โดยส่งหนังสือมายังเสนาบดีไทยขู่ให้ส่งตัวเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) คืนให้กับพม่า เพราะถือว่าเป็นคนของพม่า ซึ่งไทยไม่ยอม พม่ายกตีเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายไทยโดยกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นจอมพลคุมทัพไทย ตีพม่าแตกพ่ายยับเยินไป
นอกจากรับราชการแล้ว เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ยังเป็นผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ท่านสร้างวัดเชิงท่า ที่ตำบลคลองบางตลาด และวัดเกาะพญาเจ่ง ที่ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ดังปรากฏบทกลอน ณ วัดเกาะพญาเจ่งดังนี้
เป็นผู้สร้างวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง โดยส่ง เจ้าชมภู บุตรชายคนที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการ
บุตรหลานของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ติดต่อกันมาถึง 9 ท่าน เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ถึงแก่อสัญกรรมในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปี พ.ศ. 2365 สิริอายุ 83 ปี บุตรของท่าน เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) อยู่ในตำแหน่งปกครองชาวมอญแทนท่านเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง)
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าพระยามหาโยธา_(เจ่ง_คชเสนี)